Monday, 29 April 2024
อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา

การตั้งคำถาม กระตุ้นให้พวกเขามีโอกาสแสดงความเป็นตัวตน มอบพื้นที่แห่งความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออก เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง และค้นหาทางออกด้วยตัวของเขาเอง

การตั้งคำถามที่ทรงพลัง (Powerful Questioning) คือ การตั้งคําถามที่ช่วยให้คู่สนทนาสามารถจัดการความคิดยุ่งเหยิงของตนเองให้เป็นระบบระเบียบ และเมื่อความคิดความรู้สึกถูกจัดเรียงใหม่แล้ว เขาจะมีความพร้อมในการตั้งเป้าหมาย ประเมินสถานการณ์ มองหาทางเลือกต่างๆ และตัดสินใจเลือกวิธีการเดินหน้าต่อได้ชัดเจน 

การตั้งคำถามที่ทรงพลัง เป็นทักษะสำคัญที่ใช้ในการโค้ชเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการทำโครงการ/กิจการเพื่อสังคม แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือใช้สื่อสารกับผู้ที่กำลังสับสน ให้ได้ค้นพบคำตอบและแนวทางต่อด้วยตนเอง

1. คำถามกระตุ้นวิสัยทัศน์และเป้าหมาย 

วัยรุ่นค่อนข้างสับสนในตัวเอง เพราะมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อช่วยให้วัยรุ่นได้เข้าใจตัวเอง มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น จะได้มองเห็นภาพอนาคต จะได้มีความชัดเจนในตัวเอง ด้วยการตั้งคำถามกระตุ้นให้พวกเขาได้รู้จักข้อดีข้อเสีย โอกาสและอุปสรรคของตัวเอง จะได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตที่แคบลง  เช่น

 “วันนี้เราจะคุยเรื่องอะไรกันดี” 
“คิดว่าทักษะอะไรสำคัญบ้าง”
“สุดท้ายต้องการเห็นอะไร หลังจากที่จบการคุยกัน”
“จากจุดนี้ต้องการไปให้ถึงจุดไหน”
“คิดว่านิสัยส่วนไหนของเราที่อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในเป้าหมายนะ”
“คิดว่านิสัยส่วนไหนที่เป็นจุดแข็งของเรานะ”

2. คำถามชวนตระหนักถึงความจริงที่เกิดขึ้น

ในเวลาที่ข้อมูลเยอะ เกิดความสับสนในชีวิต มักทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความลังเลสงสัย เกิดจินตนาการและการคาดการณ์ต่างๆ นานา เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงความจริงที่อยู่ตรงหน้า ช่วยตรวจสอบมุมมองของข้อมูลให้รอบด้านมากขึ้น “ข้อมูลที่พบ มีที่มาจากแหล่งใด” (ช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล) ด้วยการตั้งคำถามให้พวกเขาตระหนักและยืนอยู่บนพื้นฐานตามความจริง พร้อมช่วยประเมินสถานการณ์เบื้องต้น เช่น

“มีใครหรือหน่วยงานใดบ้างที่ทำงานในประเด็นนี้อยู่บ้างนะ”
“เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดผลลัพธ์หรือผลกระทบกับคุณอย่างไรบ้าง”
“คิดว่ามีส่วนไหนบ้างที่ไม่จำเป็นในเบื้องต้น”
“ที่ผ่านมามีตรงจุดไหนบ้างที่เราพลาดไปไม่ได้ทำ”

3. คำถามชวนค้นหาทางเลือก

เมื่อช่วยให้วัยรุ่นมีจุดตั้งต้นอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงแล้ว ขั้นต่อไปคือการชวนคิดถึงโอกาสและทางเลือกต่างๆ โดยกลับไปเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น

– ถามเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และเปิดพื้นที่ให้เขาได้ทดลองคิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ เช่น 

“คิดว่ามีไอเดียหรือทางเลือกใดบ้าง ที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน”
“เราจะพัฒนาสิ่งที่เรามีได้อย่างไรนะ”
“เกี่ยวกับเรื่องนี้เลวร้ายที่สุดคือเรื่องใด”
“หากมีคนที่อยู่ในสถานการณ์เหมือนเราตอนนี้ คุณจะแนะนำเขาว่าอย่างไร”
 “คุณจะมีแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแต่ละทางเลือกอย่างไรบ้าง”

ขั้นตอนนี้จะเป็นตัวสรุปการพูดคุย โดยเราอาจช่วยให้วัยรุ่นทบทวนสิ่งที่คุยกัน ตั้งแต่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ความเป็นจริงที่ผ่านมา และทางเลือกต่างๆ เพื่อให้คิดวิเคราะห์ และตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกทางใดดี ซึ่งเราอาจเพิ่มคำถามเพื่อย้ำบทสรุปให้เห็นแผนที่ชัดเจนขึ้น เช่น “คิดว่าจะพร้อมลงมือทำตามไอเดียที่เลือกเมื่อไรดี” หรือ “สรุปว่าเราจะทำอะไรกันต่อบ้าง” เป็นต้น
 
4. ทำความเข้าใจก่อนค่อยถามต่อ 

ระหว่างการพูดคุย หากพบว่ามีข้อมูลบางอย่างที่ไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจตรงกับวัยรุ่นหรือไม่ อย่างไร ให้จัดการเคลียร์ความเข้าใจนั้นให้กระจ่างก่อน เช่น ศัพท์เฉพาะ ให้อธิบายให้เข้าใจ หรือ เรื่องนามธรรมให้เปรียบเทียบเปรียบเปรยให้เห็นได้ชัดๆ ด้วยการพูดว่า

 “ตรงนี้นิดหนึ่งนะ…ที่คุณพูดว่า….(ทวบทวนสิ่งที่เราได้ยิน)”
“ที่คุณพูดว่า……(บอกสิ่งที่เราเข้าใจ)…ว่าใช่หรือไม่”
“นิดหนึ่ง….(บอกสิ่งที่เราเข้าใจ)….ไม่ทราบว่าเข้าใจตรงกันไหมคะ”

ซึ่งหากผลออกมาว่าเราเข้าใจไม่ตรงกับเป้าหมายของวัยรุ่น ขอแนะนำให้จดบันทึกไว้ว่า ประเด็นหลักที่วัยรุ่นต้องการสื่อสารแต่แรกคือเรื่องใด และขณะนี้เราต้องหยุดพักซักครู่เพื่อทำความเข้าใจเรื่องใดก่อน เพื่อป้องกันการคุยหลุดประเด็น

เคล็ดลับอยู่ตรงที่ การตั้งคำถามกระตุ้นให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงความเป็นตัวตน มอบพื้นที่แห่งความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออก เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง และค้นหาทางออกด้วยตัวของเขาเอง เราแค่เป็นตัวกลางที่ช่วยให้เขาเข้าถึงความจริงในตัวเองให้ได้ 

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/11291/
https://www.hcdcoaching.com/17020389/ทักษะการถาม-questioning-skill

โลกในยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่คนหาเงินง่ายกว่าหาความสุข การเรียนรู้วิธีขจัดทุกข์เพื่อสร้างความสุขที่แท้จริง จึงเป็นศิลปะชีวิตที่จำเป็นทั้งในปัจจุบันและในโลกอนาคต

ไม่มียุคไหนที่จะมีความเจริญด้านเทคโนโลยีเพื่อบำรุงความสุขให้กับมนุษย์เท่ากับยุคนี้  ในทางกลับกันไม่มียุคไหนที่จะทำให้คนมีความทุกข์มากเท่ากับยุคนี้  เป็นเพราะอะไร? ในเมื่อโลกของเรามีพร้อมทุกอย่างเพื่อบำรุงความสุข แต่ทำไมคนเรายังไม่มีความสุขอยู่ดี เป็นเพราะอะไร?

จุดเริ่มต้นของความทุกข์มาจากไหน? พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า ต้นตอความทุกข์ของมนุษย์มาจาก “กิเลส” เช่น ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น แม้นว่าคุณจะผ่านชีวิตมาเยอะก็ตาม รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าไม่ควรไปยึดติด แต่เราถูกเกมกิเลส และโครงสร้างจิตหลอกอยู่ดี 

คุณลองนึกย้อนไป ในตอนเด็ก เมื่อเราได้ของสิ่งใดมายาก พอได้มาครอบครอง จิตเราก็จะค่อยๆ เข้าไปยึดติด ตอนคุณได้งานมาจากการแข่งขัน คุณชนะการแข่งขันได้งานทำ มีตำแหน่งที่ดี อำนาจก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เราเข้าไปยึดติดกับตัวตน อยากได้บ้านอยากได้รถ พอคุณได้มาให้สังเกตว่าจิตคุณจะค่อยๆ เข้าไปยึดติด พอไปบ้านเพื่อนที่หลังใหญ่กว่า สวยกว่า แบบทันสมัยกว่า คุณก็เริ่มอยากได้บ้านอีก เห็นไหมคะว่า “ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด” จะทำอย่างไรให้เราตามทันกิเลส และบริหารจัดการได้อย่างไร 

วิธีขจัดทุกข์เพิ่มสุข

1. ทุกข์จากความคาดหวัง เกมกิเลสสอนให้คุณคาดหวังกับทุกสิ่ง สอนให้คุณดิ้นรนหาสิ่งของต่างๆ มาเพื่อความสะดวกสบาย พอคุณได้มาครอบครอง จิตของคุณจะเข้าไปยึดว่านี้คือของฉัน จากนั้นคุณก็จะคาดหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้อย่างที่คิด คุณก็รู้สึกผิดหวัง แต่ถ้าคุณไม่อยากใช้ชีวิตอย่างคนผิดหวังซ้ำๆ 

คุณลองคิดใหม่ ในขณะที่คุณตั้งเป้าหมายในชีวิต คุณมีความหวังได้ เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ไปคาดหวัง เพียงแต่ทำให้ดีที่สุด ทำให้งานจบให้ได้ ทำให้สุดความสามารถได้แค่ไหนก็แค่นั้น 

2. ทุกข์จากการตีความ เกมกิเลสสอนให้เราประมวลผลและตีความ และส่วนใหญ่ก็จะตีความด้วยการคิดเอาเอง คิดโยงกับประสบการณ์เดิมแล้วก็คิดไปต่างๆ นา เรามองเห็นเรื่องที่เราได้พบเรื่องที่เราได้ฟังจากเหตุผลของเรา ซึ่งไม่ใช่ความจริงตรงหน้า ถ้าคุณต้องการรักษาใจคุณ ไม่อยากให้จิตใจขุ่นมัว ไม่อยากโกรธ เกลียด พยาบาทใครอีกแล้ว  

ลองฝึกคิดใหม่ ให้เป็นผู้ฟังในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ แค่รับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าว่าสิ่งใดกำลังเกิดขึ้นบ้าง ใช้วิธีมองแบบกล้องวิดีโอเห็นอะไรบ้างในจอภาพในตอนนี้ ก็ให้ดูแค่นั้น ห้ามไปตีความว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้

3. ทุกข์เกิดจากความอยากและไม่อยาก เกมของกิเลสกระตุ้นทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้คุณรู้สึกอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่เพียงแค่นั้น เกมของกิเลสยังเล่นงานคุณอีกด้าน คือบางเรื่องคุณไม่อยากให้เกิดแต่ดันเกิด บางคนคุณไม่อยากให้เข้ามาในชีวิตแต่ดันเข้ามา หน้าที่บางอย่างคุณไม่อยากทำ แต่สถานการณ์บังคับให้คุณต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นความอยากและความไม่อยาก ก็ทำคุณเกิดความทุกทั้งนั้น ถ้าคุณไม่อยากใช้ชีวิตแบบร้อนรนจิตใจรุ่มร้อนด้วยกิเลสกำลังเผาใจ 

คุณลองคิดใหม่ เลิกมองในสิ่งที่ขาด หันกลับมาอยู่กับสิ่งที่มี และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด พัฒนาต่อยอดกับสิ่งที่คุณมี อยู่กับธรรมชาติ ออกแบบชีวิตให้เรียบง่าย สงบเย็นๆ สบายๆ

โลกในยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่คนหาเงินหาง่ายกว่าหาความสุข การเรียนรู้วิธีขจัดทุกข์เพื่อสร้างความสุขที่แท้จริง จึงเป็นศิลปะชีวิตที่จำเป็นทั้งในปัจจุบันและในโลกอนาคต ผู้เขียนเชื่อว่าความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน ความต้องการและรสนิยมแตกต่างกันไป แต่ความสุขที่แท้จริงจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเราก่อนเสมอ ก่อนให้ผู้อื่น จงให้ตัวเราเองก่อน ให้ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้สิ่งที่ปรนเปรอกิเลสให้เติบโตนะคะ แต่จงเลือกทำในเรื่องที่ขัดเกลาให้จิตของเราสงบเย็นลง สติจะปรากฏตัวเมื่อจิตสงบ และสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต  คือ “ สติ”

.
เขียนโดย: อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://th.search.yahoo.com/search?fr=mcafee&type=E211TH1468G0&p=%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%99
https://mdk-shop.com/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B4/
https://www.youtube.com/watch?v=ODgaJnU-ZRU
 

ทำไมคนมากมายถึงมีปัญหาการเงินเพิ่มมากขึ้นทุกปี เป็นไปได้ว่าผู้คนเหล่านั้นอาจมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่ ‘ยิ่งทำ ยิ่งจน’ นิสัยเหล่านั้นเป็นแบบไหน? มีอะไรบ้าง? และจะแก้ไขได้อย่างไร?

ต้องยอมรับว่าหลายคนกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องการเงินอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่มีอัตราหนี้สินครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในทุกปี แล้วทำไมคนมากมายถึงมีปัญหาการเงินเพิ่มมากขึ้นทุกปี เชื่อได้เลยว่าทุกคนพยายามที่จะแก้ปัญหา ปรากฏว่าหนี้สินก็ยังไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น มันเป็นเพราะอะไร? 

เป็นไปได้ว่าผู้คนเหล่านั้นอาจมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่ยิ่งทำ ยิ่งจน อยู่นั่นเอง แต่คนส่วนใหญ่ทำไปโดยไม่รู้ตัว วันนี้ผู้เขียนจะมาชี้แจงแถลงไขให้ทราบกันว่า นิสัยเหล่านั้นเป็นแบบไหน? มีอะไรบ้าง? และจะแก้ไขได้อย่างไร?

1. ใช้เงินไม่ยั้งคิด เห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด วัน ๆ คิดถึงแต่วิธีใช้เงิน นั่งดูมือถือ เป็น FC Shopee Lazada นิสัยจ่ายไว ไม่ยั้งคิด ถือเป็นนิสัยที่เป็นสาเหตุหลักทำให้คนเรามีปัญหาด้านการเงิน หามาได้เท่าไรก็จ่ายจนหมด พอหมดแล้วก็เริ่มต้นหาใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะหันไปพึ่งบัตรเครดิต หรือ บัตรกดเงินสด ชีวิตก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ ถ้าเกิดช่วงไหนมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน ทั้งชีวิตก็จะกลายเป็นคนมีหนี้สินตลอด 

วิธีแก้ไข 

- ฝึกการยับยั้งชั่งใจ
- พิจารณาก่อนซื้อ สัก 3-4 วัน ความอยากจะลดลง
- การซื้อครั้งนี้ส่งผลกระทบต่องบจำเป็นในส่วนอื่นไหม 

2. คาดหวังกับสิ่งที่เลื่อนลอย รอคอยแต่โชคชะตา ชอบซื้อหวย ซื้อลอตเตอรี่ ใช้เกมพนันเพื่อหวังรวย ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ ซึ่งถ้าจะลองมองย้อนไปดูตามสถิติ มีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถูกรางวัลใหญ่ ๆ จนร่ำรวย ส่วนคนอีกมหาศาลนั้นเสียเงินแต่ละงวดหลายพันไปเปล่า ๆ โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมา รวมกันปีหนึ่งเสียเงินนับหมื่นกันเลยทีเดียว 

วิธีแก้ไข

- เอาเงินส่วนที่ซื้อหวย หรือลอตเตอรี่มาเก็บเป็นเงินออมจะดีกว่าไหม
- ตั้งใจเก็บเงิน 10% ของรายได้ ทุกเดือน ไม่ต้องรอมีเงินก้อนแล้วค่อยเก็บ แบบนั้นไม่ได้เก็บแน่นอน

3. วิถีชีวิตหรูหราเกินตัว หน้าใหญ่ ใจโต ทั้ง ๆ ที่มีรายได้ทางเดียวอย่างจำกัด บางคนมีความอยากได้อยากมีเกินรายได้ที่ตัวเองได้รับ เห็นคนอื่นมีของแพง ๆ ก็อยากได้บ้าง เพื่อหน้าตา เพื่ออวดคนอื่นว่าตัวเองก็มีนะ คุณมีได้ฉันก็มีได้ คุณซื้อได้ฉันก็ซื้อได้ เอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เขามีโอกาสมากกว่า โดยที่ไม่ได้มองเงินในกระเป๋าตัวเองเลย แล้วถ้าเงินไม่มีจะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องใช้บัตรเครดิตสิสะดวกดี ไม่ต้องเสียเงินสดแค่รูดปรื๊ดดด เดียว เดี๋ยวก็ได้ของมาแล้ว โดยไม่คิดคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะถาโถมเข้ามาให้คุณแทบล้มทั้งยืนในภายหลัง

วิธีแก้ไข

- ฝึกยับยั้งชั่งใจ อย่าตกเป็นทาสกิเลส
- พิจารณา ใคร่ครวญไตร่ตรอง ก่อนซื้อ 
- ศึกษาวิธีการใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด

4. ขาดความรู้เรื่องการเงิน เรื่องตัวเลขเป็นเรื่องน่าเบื่อ น่าปวดหัว ไม่อยากสนใจ มีเท่าไหร่ก็ใช้ ๆ ไป จึงทำให้ขาดการวางแผนในการใช้เงิน เงินหมดตั้งแต่กลางเดือนบ้าง สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ เงินสำรองฉุกเฉินไม่มี เงินเก่าหมดไป เงินใหม่ยังหาไม่ได้ ขาดสภาพคล่อง ทำให้ชีวิตติดขัดตลอดเวลา

วิธีแก้ไข

- การวางแผนเรื่องเงิน ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ประจำวัน ช่วยทำให้คุณรู้ความเคลื่อนไหวของสถานะการเงินของคุณ
- ควรหาที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ให้มาช่วยจัดการ ป้องกัน ก่อนเกิดปัญหา

5. ไม่คิดถึงอนาคต ใช้ชีวิตไปวันๆ การไม่มีเป้าหมายในชีวิตนั้น จะส่งผลในแง่ลบต่อตัวคุณเองแน่นอน เพราะจะทำให้คุณใช้ชีวิตไปวัน ๆ มีเงินเท่าไหร่ก็ใช้ไปโดยไม่คิด ไม่รู้จักเก็บออม ไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ กลายเป็นคนกินอยู่อย่างลำบากตอนชีวิตบั้นปลาย หรือในเบื้องต้น อาจมีทัศนคติที่ไม่ดีกับความรวย เช่น “คนรวยไม่เห็นจะมีความสุข” หรือ “รวยไปก็แค่นั้น ตายไปก็เอาไปไม่ได้” พอมี Mindset แบบนี้จึงขาดเป้าหมายในทางปฎิบัติในการขยันหาและขยันเก็บ

วิธีแก้ไข

- ตั้งเป้าหมายให้กับชีวิต เป็นเป้าหมายระยะสั้นๆ ก่อน เช่น เก็บเงิน 10% ของรายได้ ทุกเดือน
- ลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ภายใน 3 เดือน
- วาดภาพชีวิตในอนาคต คุณต้องการใช้ชีวิตแบบไหน ที่ไหน ท่องเที่ยวอย่างไร กับใคร 

ผู้เขียนเชื่อว่าบทความนี้จะสะท้อนภาพชีวิตของคุณได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้ว่าที่ผ่านมาเราผิดพลาดเรื่องใด จะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อให้ชีวิตมีอนาคตที่สดใสกันทุกคน

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://www.moneyguru.co.th/lifestyle/articles/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%99/
https://chookde.com/9-%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%99-%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87/
https://aommoney.com/stories/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/poor-people-behavior/2341#ksjt4nmj90

ทำไมลูกวัยรุ่นไม่ชอบคุยกับพ่อแม่? พบ 5 สาเหตุหลักที่วัยรุ่นไม่ยอมปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่ พร้อมวิธีปรับตัว เมื่อลูกไม่คุยด้วย

ในช่วงลูกเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงอายุประมาณ 15-17 ปี ลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว จนพ่อแม่ปรับตัวตามลูกไม่ทัน บางครั้งทำให้รู้สึกว่า ลูกไม่ยอมปรึกษา และไม่ค่อยเปิดใจรับฟังพ่อแม่เหมือนเมื่อก่อน ยิ่งพ่อแม่พยายามเข้าหาลูกก็ดูเหมือนลูกพยายามตีตัวออกห่าง หนักเข้าก็ไม่คุยด้วย เล่นเอาพ่อแม่หนักใจไปตามๆ กัน เกิดอะไรขึ้นกับลูก ทั้งหมดนี้เกิดจากสาเหตุใด และพ่อแม่ต้องปรับตัวอย่างไร เป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรรู้

พบ 5 สาเหตุหลักที่วัยรุ่นไม่ยอมปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่

1. วัยรุ่นมีความมั่นใจ กล้าลองผิดลองถูก และเชื่อมั่นว่าตัวเองมีความสามารถมากพอที่จะจัดการกับปัญหาทุกอย่างได้โดยไม่ต้องปรึกษาใคร เขาต้องการให้พ่อแม่ไว้ใจเขา

2. วัยรุ่นไม่ชอบที่ถูกพ่อแม่บ่นด่าและวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องที่เขาคิด พูด ทำ ตามประสาวัยรุ่น บางครั้งพ่อแม่พูดไม่ให้กำลังใจ จ้องจับผิด ถูกตำหนิรุนแรง ยังแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจในตัวเขา บางครั้งออกคำสั่งห้าม หรือไม่ก็ตัดสินใจแทนเขาอีก …วัยรุ่นไม่ชอบสถานการณ์แบบนี้เอามากๆ

3. วัยรุ่นคิดว่าพ่อแม่ไม่พร้อมและไม่มีความถนัดมากพอ อาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น เคยตั้งใจมาปรึกษาพ่อแม่ แต่เจอจังหวะที่พ่อแม่กำลังยุ่ง เหนื่อย เครียด ไม่พร้อมฟัง เลยสักแต่ฟัง แต่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องที่เขาพูด บางครั้งอาจบอกลูกว่า เอาไว้ก่อน ตอนนี้พ่อกับแม่ไม่มีเวลา

4. วัยรุ่นอาจเล่าเรื่องไม่เก่ง เข้าใจในแบบฉบับของตัวเอง ยังถ่ายทอดได้ไม่ดีเท่าที่ควร พอพ่อแม่ถามคืนมา แล้วตอบไม่เคลียร์ประเด็น พอถูกถามจี้ๆ บางครั้งอาจถูกพ่อแม่ดุ เลยทำให้รู้สึกอึดอัด และรู้สึกไม่ชอบที่ตัวเองดูกลายเป็นคนโง่ 

5. วัยรุ่นกลัวความผิด ถ้าเขาทำความผิด เช่น แอบขับรถมอเตอร์ไซค์ล้ม ทั้งๆ ที่เคยรับปากกับพ่อแม่ไว้ว่าจะไม่ขับ ประกอบกับพ่อแม่เป็นคนดุ เป็นคนน่ากลัว ยิ่งทำให้เขาไม่กล้าพูด อาจนำไปสู่การพูดโกหก และปกปิดความผิดได้

พ่อแม่ควรปรับตัวอย่างไร?

1. รับฟังอย่างลึกซึ้ง วางมือจากธุระ ตั้งใจฟัง และให้เวลากับเขา

2. ลดการตำหนิ ดุบ่นด่า จ้องจับผิด คำพูดดูถูกความคิดของเขา ควรรักษาศักดิ์ศรีให้เขาด้วย เรื่องนี้สำคัญมาก

3. ชื่นชมลูกทุกเรื่อง แม้นเป็นเรื่องที่เขาคิดได้ยังดีไม่พอ ให้ชื่นชมในมุมที่ชื่นชมได้ เช่นชื่นชมในความกล้าคิดกล้าแสดงออกของเขา และชื่นชมทุกครั้งเมื่อเขาคิดและแก้ปัญหาได้ดี

4. พ่อแม่ต้องตั้งสติให้ดี ในตอนที่ลูกเจอปัญหาหนัก เพราะลูกต้องการความปลอดภัย และความมั่นคง พ่อแม่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูก 

5. พ่อแม่ต้องเป็นนักสร้างบรรยากาศที่ดีในการสนทนา ช่วงแรกของการพูดคุยพ่อแม่ต้องพูดในเรื่องที่ลูกอยากฟังก่อน เสมือนหนึ่งว่าเรายืนอยู่ในมุมเดียวกับเขา เพื่อให้ลูกเปิดใจเข้ามารับฟังด้วยความเต็มใจ

การสื่อสารในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนในครอบครัวเป็นหลัก เป้าหมายของการสื่อสารในครอบครัว ควรเป็นไปเพื่อให้เกิดความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันสร้าง ความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship) และ ความเข้าอกเข้าใจกัน (Empathy) 

เขียนโดย: อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง: https://th.theasianparent.com/gloves-for-newborns

Empathy คืออะไร ทำไมจึงเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตของทุกคน เราจะสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้อย่างไร?

คุณเคยผ่านช่วงชีวิตที่แย่ๆ จิตใจกำลังอ่อนแอ เผชิญปัญหาหนักๆ เพียงลำพังคนเดียวบ้างไหม? ในช่วงนั้นหากมีใครสักคนเข้าใจหัวอกของคุณอย่างลึกซึ้ง พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเรา ช่วยเหลือ สนับสนุน ให้กำลังใจเรา ในทุกประโยคทุกคำพูด ยืนอยู่ในมุมเดียวกับเรา เราจะรู้สึกดีมากแค่ไหน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร เขามีทักษะสำคัญที่เรียกว่า Empathy

•  Empathy คืออะไร
Empathy คือ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นผ่านมุมมองของพวกเขา ในโลกยุคที่การใช้ชีวิตมีความซับซ้อนและคาดเดายาก เราต้องยิ่งอยู่ร่วมกับทุกคนให้ได้ ทักษะนี้เป็นส่วนสำคัญช่วยทำให้แต่ละคนเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่งผลต่อการสร้างบรรยากาศที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือกลุ่มชุมชนต่างๆ

• ทำไมจึงเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตของทุกคน

จากสถิติ 80% พนักงานในกลุ่ม Millennials ลาออกจากงาน เพราะที่ทำงานขาด Empathy มากกว่า 60% บุคลากรในกลุ่ม Baby Boomers ลาออกเพราะที่ทำงานขาด Empathy  ยิ่งในครอบครัว พ่อแม่ให้ความรักลูกแบบไหน ถ้าพ่อแม่แสดงความรักต่อลูกอย่างเหมาะสม ลูกก็จะเห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือ ลูกก็จะสามารถแสดงความรักต่อผู้อื่นเป็น 

ตรงกันข้าม หากพ่อแม่ที่เคยได้รับความรักที่ไม่เหมาะสมมา เช่น การถูกตามใจจนชิน เป็นหลานชายคนแรกของตระกูล พ่อแม่ญาติพี่น้องให้ความสำคัญจนเกินความเป็นจริง กระทั่งไม่รู้ผิดรู้ถูก ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร การแสดงความรักของพ่อแม่ที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ลูกจะกลายเป็นคนไม่เห็นคุณค่าใคร ไม่เห็นอกเห็นใจใคร คนในครอบครัวขาดการเคารพกัน อาจถึงขั้นทำร้ายกันเอง และเมื่อมามีครอบครัวของตนเอง ก็จะส่งต่อความรักที่ไม่เหมาะสมแบบนี้แก่ลูกหลานต่อไป บรรยากาศครอบครัวเสียเพราะมีใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ขาด Empathy 

• เราจะสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้อย่างไร?

มาช่วยให้บ้านน่าอยู่ขึ้น ที่ทำงานน่าอยู่ สังคมน่าอยู่ ด้วยการปลูกฝังให้คนมี Empathy

หัวใจสำคัญของการมี Empathy  คือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา พิจารณาจากพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้  

-    สามารถแก้ปัญหาที่ยากๆ ได้ดีกว่าคนอื่น
-    ไม่กดขี่ข่มเหงคนอื่น ตรงกันข้ามจะเข้าช่วยเหลือเมื่อเห็นคนอื่นถูกรังแกมากกว่า
-    มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ เพราะปรับตัวได้ง่ายและมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี

ข้อเสนอแนะ 7 ขั้นตอนที่พ่อแม่ทำได้ง่ายๆ

1. แสดง Empathy ให้ลูกๆ เห็น เป็นที่ประจักษ์ชัด ทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะแบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน หาจังหวะเวลาที่เหมาะสม บอกสอนเรื่องการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา 

2. อย่าละเลยความรู้สึกลูก อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้ง ลูกต้องรู้สึกว่ามีคนรับฟังและช่วยเหลือเขาอยู่ข้างพวกเขา เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยในขณะที่อยู่กับพ่อแม่ พวกเขาจะมีแนวโน้มในการส่งต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น 

3. ฝึกให้ลูกแยกแยะเป็น ช่วยให้ลูกเข้าใจในอารณ์ที่เกิดขึ้นตามแรงกระตุ้นของสิ่งที่มากระทบ ทั้งทางลบและทางบวก เพื่อให้เขาได้เชื่อมโยงความรู้สึกของเขา เข้ากับคำพูด และสิ่งที่เข้ามากระทบอารมณ์ของพวกเขา เพราะถ้าพวกเขาเข้าใจความรู้สึกของตัวเองทั้งทางบวกและทางลบ เขามีแนวโน้มในการเข้าใจผู้อื่นเช่นกัน

4. มอบหมายหน้าที่ให้ทำ แม้นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้พวกเขามีส่วนร่วม และมอบหมายให้เป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงกิจกรรมการกุศล การให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เด็กที่อยู่ในบรรยากาศแบบนี้มีแนวโน้มเข้าใจผู้อื่น

5. อย่าแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง ปล่อยให้ลูกได้แก้ปัญหาเองบ้าง ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ของความผิดหวังบ้าง จะได้ถือโอกาสสอนทักษะในการแก้ปัญหาให้กับลูกบ้าง สอนให้เขาคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็นจากปัญหาจริงที่เกิดขึ้น ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน เมื่อเด็กได้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาเอง พวกเขาจะมีแนวโน้มในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อน



6. สอนให้ลูกยอมรับผู้อื่นและตัวเอง ไม่พูดเปรียบเทียบชีวิตลูกกับชีวิตของใคร แต่ในทางกลับกัน สอนให้ลูกรู้ว่าเรามีอะไรที่เหมือนและแตกต่างจากคนอื่นบ้าง พาให้พวกเขาได้เห็นชีวิตของแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน วิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม แตกต่างกัน ชีวิตแต่ละคนมีโอกาสและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป

7. สอนให้ลูกช่วยเหลือผู้อื่นจากหัวใจ สอนให้ลูกมีจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ โดยไม่คำนึงถึงคำชม รางวัล หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ให้ทำความดีเพื่อความดีจริงๆ อธิบายให้เขาเข้าใจถึงผลรับของการกระทำ Action Reaction หากลงมือทำที่เหตุต้องไม่ปฏิเสธผล ดีก็รับ ไม่ดีก็ต้องรับ 

บทสรุปของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือการเคารพความรู้สึกของผู้อื่น  ผลลัพธ์ที่ได้คือคนในครอบครัวเห็นคุณค่ากันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน บรรยากาศบ้านก็น่าอยู่ ในทางกลับกันหากผู้นำครอบครัวมีใครคนใดคนหนึ่ง เอาแต่ใจตัวเอง ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น บรรยากาศบ้านก็เสีย เต็มไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่เคารพกัน ทำลายคุณค่าของกันและกันในที่สุด

การสร้าง Empathy ไม่ยาก แต่คนส่วนมากไม่ค่อยทำ ไม่อยากให้ใครมองข้ามเรื่องสำคัญ เมื่อรู้ผลลัพธ์แบบนี้คุณพ่อคุณแม่เรามาสร้าง Empathy ที่ดีในครอบครัวกันเถอะค่ะ ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อคนที่มีความหมายในชีวิตของเราค่ะ 

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
http://www.thefamily.in.th/podcast/episode.php?code=100400
https://www.chanuntorn.com/post/o-bk-dkhr-bkhrawdwy-empathy-kuyaecchthiithamaihehnkhunkhaakanaelakan
https://www.urbinner.com/post/what-is-empathy-how-does-it-important-in-the-workplace

เราจะสร้างบรรยากาศในบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างไร? สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้

มีคำกล่าวหนึ่ง ผู้หญิงคือผู้สร้างโลก บ้านจะมีความสุขหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) แต่บังเอิญว่าความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) ขึ้นอยู่กับความรักของผู้ชาย (สามี) สิ่งที่คุณกระทำต่อภรรยามีผลต่อลูกคุณเสมอ จึงขอฝากถึงคุณผู้ชายว่า รักภรรยาคุณให้มากๆ นะ แบ่งเบาภาระภรรยาให้มากๆ เข้าอกเข้าใจในความเป็นภรรยา ในความเป็นแม่ และในความเป็นผู้หญิงของเธอ ถ้าคุณอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น และมีความสุขที่แท้จริง

พวกเราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ทุกๆ ครอบครัวต่างเผชิญกับความไม่แน่นอน การออกนอกบ้านคือสัญลักษณ์ของความไม่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมไม่น่าไว้วางใจ โรคระบาดทำให้ทุกคนต้องกลับเข้าบ้าน  บ้านคือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในเวลานี้ ประเด็นก็คือ เราจะสร้างบรรยากาศบ้านให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยได้อย่างไร ในที่นี้คงไม่พูดถึงความสะอาด แต่เราจะขอพูดในมุมของความรู้สึกมากกว่า

จากผลงานวิจัย เมื่อบรรยากาศในบ้านไม่ปลอดภัย มีความขัดแย้ง หรือเสียงทะเลาะ ด่าทอ ร่างกายและจิตใจของลูก จะตอบสนองอัตโนมัติในการรวบรวมพลังงานร่างกายทั้งหมดเพื่อความพร้อมในการรับมือ และการป้องกันตัวเอง แทนที่จะได้ใช้พลังงานที่มีนำไปหล่อเลี้ยงสมอง ให้สมองและจิตวิญญาณเติบโตพัฒนาก้าวหน้า กลับต้องมาเสียพลังงานกับเรื่องความไม่ปลอดภัยในครอบครัว

จากประสบการณ์ตรง ทั้งพ่อและแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว คิดว่าลูกรับได้ ลูกแข็งแรงมากพอ ไม่น่าจะเป็นไรมาก จริงๆ แล้วมีผลกระทบค่ะ ทั้งคำพูด การกระทำ การควบคุม ความหวังดี ความเหมาะสม การตัดสินใจ ที่ไม่เคยถามถึงความความรู้สึกและความสุข บ่อยครั้งที่การทะเลาะทำให้อีกคนเจ็บปวด ไม่สบายใจ ไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เคียดแค้น และทุกข์ใจ

การที่คนในครอบครัวเก็บกดความรู้สึกเหล่านี้ไว้นานๆ ทำให้สุขกายและสุขภาพจิตทรุดโทรม นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เปราะ กังวล ว้าวุ่นใจ สงสัยลังเล  เจ็บป่วยง่าย โรคแปลกๆ จะเกิดขึ้น ไปหาหมอก็ไม่หาย แต่คุณเชื่อไหมว่าโรคเหล่านี้จะหายไปเมื่อสถานการณ์และบรรยากาศกลับมาเป็นปกติ  ด้วยการที่พ่อแม่ลูกให้อภัยกันและกัน กล่าวขอโทษกัน เราทำผิดเราต้องขอโทษ  เขายอมรับผิด เรายกโทษให้  ทำเพื่อทุกคน ทำให้บรรยากาศกลับมาเป็นปกติ ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่ทำเพื่อครอบครัว

โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ผิดคือผิดถูกคือถูก พ่อแม่ทำผิดต้องขอโทษ แต่ก็มีอีกกรณีที่เอาคำขอโทษขออภัยมาเป็นเกมในการทำผิดซ้ำๆ คำขอโทษ ขอภัย ก็ไม่มีค่าอะไร เพราะแค่พูดออกไปงั้นๆ แต่ไม่คิดที่จะแก้ไขปรับปรุง แถมยังทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อันนี้ก็คงต้องแก้ที่นิสัยและทัศนคติในการใช้ชีวิตส่วนตัว

ถ้าครอบครัวคุณอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้งและการทะเลาะ และยังแก้ไขไม่ได้ จงพูดให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีรักโลภโกรธหลง มีทั้งดีและไม่ดี ให้ลูกจดจำในส่วนที่ดีๆ ของพ่อกับแม่ไปนะ ส่วนที่ไม่ดีที่เป็นข้อบกพร่องก็ไม่ต้องเอาอย่าง สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะ 

เมื่อทุกคนร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้ โดยเฉพาะถ้าภรรยามีความสุข บ้านก็มีความสุข สามีก็มีความสุข ลูกๆ ก็มีความสุขอย่างแท้จริง สนับสนุนสร้างครอบครัวอบอุ่นด้วยการมีผัวเดียวเมียเดียวค่ะ 

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://today.line.me/th/v2/article/k6MwRo
https://aboutmom.co/interview/benjarat-jongcharusphan/22044/
https://adaymagazine.com/domestic-violence-during-pandemic

3 วิธี ไม่ให้ครอบครัวกลายเป็นสนามรบ ในช่วงโควิด!! ยิ่งอยู่ใกล้ ทำไมยิ่งดูห่างไกล ในช่วงล็อกดาวน์

ในช่วงล็อกดาวน์ ครอบครัวหลายครอบครัวถือโอกาสใช้เวลาร่วมกัน มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัวให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ในขณะที่มีอีกหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาเรื่องงาน เงิน กระทั่งเกิดความเครียด ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง จนบ้านกลายเป็นสนามรบ สามวันดีสี่วันทะเลาะ คู่รักหลายต่อหลายคู่เลือกที่จะยุติความสัมพันธ์ไม่ไปต่อ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนในบ้านเมืองเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก 

สถิติความขัดแย้งในครอบครัวช่วง COVID-19 จากการสำรวจของสมาคม จิตแพทย์อเมริกา (America Psychiatry Association) ร้อยละ 12 ของชาวอเมริกันยอมรับว่า ครอบครัวของพวกเขาทะเลาะกันมากขึ้น และพบว่าครอบครัวจะมีความสุขมากขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของ Lockdown แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 1 เดือน คนในครอบครัวกลับรู้สึกเครียด และเริ่มคิดว่าครอบครัวเริ่มมีปัญหา ทางด้านประเทศจีนพบสถิติการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คู่สมรสที่ยื่นเรื่องขอหย่าร้างในเมืองซีอาน (Xi’an) และต้าโจว (Dazhou) เพิ่มสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเมืองเซี่ยงไฮ้ก็มีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 

ในขณะที่สื่อทุกช่องทางให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน และ อัตราการติดเชื้อ การเสียชีวิตออกข่าวกันเป็นรายวันรายชั่วโมง แต่ไม่มีหน่วยงานไหนออกมาพูดชัดเจนในเรื่องการดูแลครอบครัวอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงล็อกดาวน์ มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. ยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงในปัจจุบัน

ขั้นตอนแรกของการจัดการปัญหา คือการยอมรับว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกกังวลและประสบความยากลำบากในการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ความกังวลเป็นเพียงสัญชาตญาณการต่อสู้เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานๆ โดยไม่จำเป็น การเสพข่าวเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาตลอดทั้งวันย่อมไม่เกิดผลดี มีแต่จะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น

2. การสื่อสารเชิงบวกสำคัญที่สุด

ทุกคนในครอบครัวต่างก็มีความเครียดส่วนตัว ต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนทำงานในบ้าน การดูแลเอาใจใส่อาจทำไม่ได้ดีเท่าตอนปกติ การเข้า Zoom ประชุมงานทั้งวัน การประสานงานพูดคุยกันโดยไม่ได้เจอหน้ากัน เหนื่อยกว่าเป็น 2 เท่า การพูดให้กำลังใจกันและกันเป็นเรื่องจำเป็น ข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ให้มองผ่าน ชมกันให้มากกว่าต่อว่า ในตรงกันข้ามหากมีใครสักคนในบ้านเป็น Toxic Person เอาแต่ใจ พูดไม่ดี ด่าทอ อารมณ์เสียตลอดเวลา คนในบ้านก็พลอยไม่มีความสุข และหากมีใครสักคนทนไม่ได้ ตอบโต้ขึ้นมา บ้านที่เคยน่าอยู่ ก็จะกลายเป็นสนามรบทันที

3. จัดระเบียบชีวิตใหม่ 

ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ชีวิตย่อมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะไปต่อได้ ให้ดูสิ่งของในบ้านว่าอะไรที่เกินความจำเป็นบ้าง เลือกไว้เฉพาะที่จำเป็นสำหรับคนในบ้านเท่านั้น พื้นที่ในการตั้งโต๊ะทำงาน โต๊ะเรียนหนังสือของคนในบ้านต้องมีพื้นที่เพียงพอ อุปกรณ์ในการทำงาน การเรียนต้องครบ เครื่องมือสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ควรจัดตารางเวลาลำดับหน้าที่ของแต่ละคนให้ลงตัว ช่วงงาน ช่วงเวลาอาหาร ช่วงพัก มีเวลาส่วนตัว และการพูดคุยกันในเวลาของครอบครัว จะได้เอาใจใส่ซึ่งกันและกันในช่วงนี้  นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ หากยังใช้วิถีชีวิตอย่างไม่เตรียมพร้อมมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดปัญหาได้

เชื่อว่า 3 วิธีที่พูดมา คงจะทำให้คุณจัดการกับความกังวลที่เกิดขึ้น เรียนรู้วิธีสื่อสารเชิงบวก และการปรับตัวเองในการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อให้คนในครอบครัวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างถึง:

https://www.posttoday.com/life/healthy/653628
https://psychologistbkk.com/th/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C/

พูดกับลูกแบบนี้ ไม่ได้ผล!! การพูดจาข่มขู่ เป็นวิธีการให้ลูกทำตัวเกเร ไม่มีการกระทำที่ถูก จากวิธีคิดที่ผิด

พ่อแม่บางคนติดกับดักอำนาจตัวเอง สำหรับเด็กๆ แล้วเหมือนคำท้าทายให้เด็กๆ ทำในสิ่งที่พ่อแม่ห้าม คำว่า “เดี๋ยวเถอะ ถ้าลูกทำอีกครั้งนะ” การรับรู้ของเด็กจะไม่ได้ยินคำว่า “ถ้าลูก” แต่จะได้ยินคำว่า “ลูกทำอีกครั้งนะ” การตีความการข่มขู่ครั้งนั้น เหมือนว่า ถูกคาดหวังว่าให้พวกเขาทำตัวเกเรอีกครั้ง

คำตักเตือนของคุณ เสมือนเป็นการท้าทายให้เด็กพยามแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น ถ้าเขาเป็นคนเคารพในตัวเองมากๆ เขาจะฝ่าฝืนคำสั่งคุณ เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าเขาไม่ใช่คนที่รู้สึกเกรงกลัวและหวั่นไหวเมื่อถูกข่มขู่

วิธีสื่อสารบางอย่างที่เราใช้พูดกับลูก เป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลอย่างยิ่ง นอกจากจะทำให้เราไม่บรรลุจุดมุ่งหมายในการสื่อสารกับลูกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น มันจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย วิธีสื่อสารที่ว่า เช่น การข่มขู่ การติดสินบน การให้คำมั่นสัญญา การพูดจาถากถาง การใช้คำพูดที่รุนแรงเกินเหตุ การพูดทำร้ายจิตใจ รวมถึงการสอนเด็กให้สุภาพมีมารยาทด้วยคำพูดที่หยาบคาย

การทำร้ายเด็กด้วยคำพูด ข่มขู่ ต่อว่า ตำหนิ ว่าเขาน่าเกลียด โง่  ซุ่มซ่าม ย่อมมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับเด็ก เด็กจะมีปฏิกิริยาทั้งร่างกายและจิตใจ  เช่น เสียใจ โกรธ เกลียด เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะในใจครุ่นคิดแต่จะเอาคืน อาจมีปัญหาในการแสดงออก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ทั้งเด็กและพ่อแม่ต้องทุกข์ระทม

พ่อแม่ที่พูดซ้ำ ๆ ว่าลูกโง่ เด็กคนนั้นก็จะเชื่อคำพูดประโยคซ้ำๆ นี้โดยอัตโนมัติ เชื่อว่าตัวเองนั้นโง่จริงๆ เขาจะเริ่มเห็นตัวเองเป็นคนโง่ลงเรื่อย ๆ  และจะยอมแพ้ต่อความพยายามและต่อการใช้ความคิดไปโดยปริยายเช่นกัน

แต่ก็ประหลาดใจมากที่บ่อยครั้งที่ได้ยินคำพูดที่ข่มขู่ เกรี้ยวกราด ถากถาง คำพูดเชิงลบ ที่ลดคุณค่าตัวตนของลูก

ตัวอย่างเช่น 
- เธอมันหนักไม่เอา เบาไม่สู้ ทำอะไรก็ไปไม่รอด
- ตั้งแต่เธอลืมตาดูโลก ธุรกิจฉันก็ขาลงทันที
- เธอมันเหมือนแม่ไม่มีผิด ไม่ได้เรื่องพอๆ กัน
- อย่าให้ฉันรู้นะว่าเธอ….
- คนอย่างเธอมันเก่งไม่จริง
- ระวังตัวให้ดี สักวันหนึ่ง….
- เธอมันคือตัวปัญหา ตัวซวย

แบบแผนการสื่อสารแบบนี้ ถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีแต่จะทำร้ายจิตใจลูกให้ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ

สิ่งสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังของหลักการสื่อสาร คือ การที่ผู้ใหญ่ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และต้องมีความเคารพในตัวของเด็ก


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima

อ้างอิงข้อมูล: หนังสือ วิธีพูดกับลูก

5 ทริค วางตัวให้ดูแพง เลอค่า!! การวางตัวให้ฉลาด เป็นเรื่องสำคัญ ในการได้รับโอกาสที่ดี

คุณไม่จำเป็นต้อง นามสกุลดัง รวยล้นฟ้า ใช้แบรนด์เนม แล้วจะได้รับคำนิยามว่าเป็น “ผู้ดีไฮโซ” แค่รู้จักวางตัวให้เป็น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติ การกระทำบางอย่าง ก็ช่วยให้อัพเกรด มีเสน่ห์เล่อค่า สวยสง่า ดูแพง ไปไหนมาไหนใคร ๆ ก็ให้เกียรติยกย่อง  ตรงกันข้ามถ้าไม่รู้จักวางตัว เล่นมั่วไม่ทิ้งระยะห่าง คนที่เข้ามาหาก็จะมีทุกประเภท รวมทั้งคนที่ไม่ให้เกียรติคุณด้วย ทำให้เสียอิมเมจได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครคุณสามารถดูดีได้ถ้าคุณทำตาม 5 ข้อนี้

1. อย่ามีนิสัยชอบนินทาผู้อื่น  เริ่มต้นจากการไม่นินทาคนอื่น เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น เกาะกลุ่มนินทาข้อเสียผู้อื่น โจมตีปมด้อยผู้อื่น เพียงเพราะเห็นภาพลักษณ์ภายนอก หรือแค่ไม่ถูกชะตา สะท้อนถึงการอบรมเลี้ยงดู  โดยเฉพาะเขียนแขวะคนโน้นทีคนนี้ทีลงโซเชียลมีเดีย ความดูแพงติดลบทันที


 
2. มีมารยาท รู้กาลเทศะ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนนิสัยใจคอแบบไหน อ่อนหวาน ขี้อาย แข็งแรง แข็งกร้าว มั่นใจ มาดมั่น การมีมารยาท รู้ว่าอะไรควรไม่ควร รู้จักให้เกียรติผู้อื่น เคารพผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญทุกคนต้องมีเป็นพื้นฐานเหล่านี้ค่ะ โดยเฉพาะเรื่องของคำพูด “ขอบคุณ” “ขอโทษ” “ขออนุญาต” พูดให้ติดปากให้เป็นนิสัยไว้ คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การรับรู้ของคนฟังยิ่งใหญ่กว่าที่คิด คำพูดของคุณอาจทำให้คนนั้นหัวใจพองโตและยิ้มได้ทั้งวันก็เป็นได้

3. รักษาศักดิ์ศรีให้คู่สนทนา ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น อย่าใช้คำพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่น อย่าทำลายศักดิ์ศรีของผู้อื่นด้วยคำพูด ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่คิด อะไรไม่ดีเก็บไว้ในใจ แต่ไม่ใช่เงียบนิ่งจนเกินเบอร์ คนที่ดูแพงเป็นที่ยอมรับจะไม่พูดพร่ำเพื่อ แต่พวกเขาสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดให้ตรง ไม่อ้อมค้อม แต่ใช้คำพูดเชิงบวก ไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น การพูดแต่ละครั้งจะพูดเฉพาะเรื่องสำคัญๆ คำพูดจึงมีพลังน่าเชื่อถือ การพูดแม้นไม่ได้พูดเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถฝึกกันได้ 

นิสัยในการยึดติดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นิสัยที่ไร้เหตุผล ไม่ฟังคนอื่น เอาแต่ใจตัวเอง พูดจาดูถูกผู้อื่น ไม่ให้เกียรติ ไม่ใช่วิถีของคนที่มีคุณค่าในตัวเอง ต้องหัดเป็นคนที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ใครพูดอะไรมาก็ให้ใจเย็นๆ ข่มอารมณ์ไว้ก่อน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตอบโต้ ใช้ความนิ่งสงบ สยบความพุ่งพล่าน คุณจะกลายเป็นคนที่ดูแพง และฉลาด เห็นไหมเท่จะตาย


4. มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง จากภายใน มีความมั่นใจ และเป็นตัวของตัวเอง คือสิ่งสำคัญ ให้สังเกตดูคนที่ดูคนสง่า ดูแพง น่าเกรงขาม ส่วนใหญ่มีบุคลิกที่เหมือนกัน 2 เรื่อง คือ “ความมั่นใจ” และ “เป็นตัวของตัวเอง” เพราะถ้าคุณไม่มีสองสิ่งนี้คุณก็จะเป็นแค่คนๆ หนึ่งที่ไหลไปตามกระแสของโลกเท่านั้นเอง  

จงปลูกฝัง Mindset ตัวเองตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปว่าคุณเป็นดีมีความสามารถ ไม่ต้องพึ่งพาใคร คุณอยู่ได้ด้วยตัวเอง คุณสง่างาม คุณมีคุณค่า คุณคิดกับตัวเองอย่างไร มันจะเป็นออร่าฉายแสงสะท้อนผ่านการกระทำกับคนอื่นมากเท่านั้น ให้คุณทำไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดเสียงส่วนใหญ่จะมอบเกียรตินั้นให้คุณ และอย่าไปให้ค่ากับเสียงส่วนน้อยที่เต็มไปด้วยอคติต่อตัวคุณ  ถ้าวันนี้คุณทัศนคติดี พูดดี ทำดี วางตัวดี  คนอื่นก็จะค่อยๆ เชื่อว่าคุณเป็นแบบนั้น และมอบเกียรติให้คุณโดยปริยาย

5. น่าค้นหา เป็นมิตร เข้าถึงง่าย สายตามีความเมตตา คนดูแพง เลอค่า มักมีออร่าเปล่งประกาย ดูเหมือนเป็นคนลึกลับ น่าค้นหา เข้าถึงยาก แต่เมื่อไหร่ที่ได้พูดคุย จะพบว่าเฟรนด์ลี่ น่ารัก และเข้าถึงง่ายกว่าที่คิด ถ้าอยากอัพเกรดให้ดูแพง ไม่ควรทำตัวให้เข้าถึงง่ายเกินไป อย่าคุยเล่นไปทั่วจนดูง่ายเกินไป ทางที่ดีควรวางมาดนิ่งๆ สวยๆ ยิ้มหวานๆ สายตามีความเมตตา จะทำให้คุณกลายเป็นคนหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีที่ดูแพง แต่เป็นมิตรกับทุกคน จนใครๆ ก็ใกล้ชิดคุณ เพราะคุณเป็นคนมีเสน่ห์ดึงดูด น่าค้นหา และน่าหลงใหลกว่าใครๆ 
 

เชื่อว่า ถ้าหากคุณต้องการโอกาสที่ดีเข้ามาในชีวิต ต้องการได้รับการยอมรับ ต้องการคนให้เกียรติ  5 ทริคนี้สามารถช่วยคุณได้อย่างแน่นอนค่ะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


ข้อมูลอ้างอิง
https://today.line.me/th/v2/article/0Ra163
https://jelly.in.th/articles/how-to-be-classy-women

5 เคล็ดลับการพูดให้ดูแพง ในโลกของการทำงาน การพูดเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ

ใครๆ ก็พูดได้ ใครๆ ก็พูดเป็น แต่จะพูดอย่างไรให้ดูดีมีราคา และมีเสน่ห์น่าประทับใจ บางคนบุคลิกภาพดี หน้าตาดี แต่งตัวดี แต่พอพูดออกมา หมดเสน่ห์ไปเลยก็มี ต่างจากบางคน บุคลิกหน้าตาการแต่งตัวแสนจะธรรมดา แต่พอพูดออกมาช่างน่าฟังและมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ติดตราตรึงใจไม่รู้ลืม เป็นเพราะอะไร ความลับเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยไหน อย่างไร เรามาดูกันค่ะ

ถ้าคุณอยากเป็นคนหนึ่งที่ต้องการพูดแล้วให้มีเสน่ห์และแลดูแพง จงทำสิ่งต่อไปนี้
.
1. ฝึกพูดให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย โดยเฉพาะเรื่อง วรรณยุกต์ อักขระ และควบกล้ำ

วิธีฝึก ให้อ่านหนังสือออกเสียงเบาๆ แต่จริงจัง พวกเราติดนิสัยการอ่านหนังสือในใจ จึงทำให้ขาดทักษะในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่ภาษาไทย เป็นภาษาที่ไพเราะมาก คนที่พูดได้ไพเราะ ให้ภาษาได้ดี สละสวยฟังเพลินเหมือนฟังดนตรี เป็นเพราะเขาออกเสียงได้ตรงตามหลักของภาษาไทยนั่นเอง

2. ฝึกการแบ่งวรรคตอนให้ดี พูดให้เป็นจังหวะ อัตราความช้าเร็วของการพูดไม่มากไป ไม่น้อยไป จังหวะการพูดให้สอดคล้องกับจังหวะของลมหายใจของผู้พูด 

วิธีฝึก กำหนดจังหวะการพูดด้วยการตั้งคำถาม  ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 

3. การปรับระดับน้ำเสียงให้สอดคล้องกับเรื่องที่เรากำลังพูด ระดับของน้ำเสียงต้องสอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกในเรื่องที่คุณกำลังพูด คุณต้องการสื่อสารให้ผู้ฟังรู้สึกอย่างไร กำหนดอารมณ์ของคุณให้ชัด เช่น มีแรงบันดาลใจ ฮึกเหิม ลุกขึ้นสู้ กังวลใจ เห็นอกเห็นใจ เช้าใจ เศร้า เสียใจ หมดหวัง สะใจ เสียดาย ฯลฯ

วิธีฝึก การฝึกพูดจากอินเนอร์ พูดให้เหมือนการร้องเพลง ลีลาให้เหมือนนักแสดง


4. ฝึกการใช้ภาษากายและลีลาท่าทางให้มีประสิทธิภาพ บุคลิกภาพการพูดการใช้ภาษากายได้ดี จะมีอิทธิพลต่อผู้ฟังมากที่สุด เช่น การใช้สายตา การใช้มือ การเคลื่อนไหวของร่างกาย ท่าท่างที่มั่นใจ สามารถสร้างเสน่ห์ ดึงดูด และสร้างความเชื่อมั่นได้มากทีเดียว

วิธีฝึก ประสานสายตากับผู้ฟังขณะที่พูด แต่ไม่ต้องถึงกับจ้อง ภาษามือใช้ซ้ายขวาพอประมาณ อย่าให้ดูวุ่นวายจนเกินไป


5. พูดเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังเท่านั้น เรื่องบางเรื่องเป็นความจริง แต่ความจริงนั้นไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด เช่น เพื่อนถูกแฟนทิ้ง ความจริงคือเพื่อนถูกทิ้ง แต่พูดแล้วเกิดประโยชน์ไหม ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด 

วิธีฝึก การพูดที่ดี ผู้พูดต้องมีจิตวิทยาการพูด เรื่องที่เราพูดคู่สนทนาเราอยากฟังหรือไม่ เพราะในมุมของคนฟังเขาต้องการได้ยินในเรื่องที่เขาชอบ มีประโยชน์และทำให้เขาสบายใจเท่านั้น

การพูดไม่ยาก ทุกคนสามารถพูดได้ แค่รู้วิธี

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: #สโมสรการพูดแห่งประเทศไทย #ระบบโทสมาสเตอร์สากล 
พัฒนาศักยภาพด้านการพูดและบุคลิกภาพ ได้ที่ #Talktonitima


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top